การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder Analysis)

การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยคาดการณ์ผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องในมิติต่าง ๆ ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและการมีผลต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวจากการพัฒนาหรือโครงการในอนาคต ดังนั้นข้อมูลจากการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการมีส่วนร่วมสำหรับการพัฒนาหรือโครงการที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ตั้งแต่ขั้นตอนการริเริ่มการวางแผน การนำแผนไปสู่การปฏิบัติ และการติดตามผลการดำเนินการ

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการศึกษานี้ หมายถึง ปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มบุคคล องค์การ สถาบัน หรือชุมชนที่เกี่ยวข้อง ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางบวกและลบจากการตัดสินใจหรือจากการที่มีโครงการพัฒนาพลังงาน นอกจากนี้ยังมีความหมายครอบคลุมถึงบุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องในกระบวนการตัดสินใจด้วย เช่น องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) และภาคประชาสังคม เป็นต้น การจำแนกผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 

  1. กลุ่มที่ 1 ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง (Primary Stakeholders) หมายถึง บุคคลหรือกลุ่มบุคคล กลุ่มอาชีพในพื้นที่ เป็นกลุ่มบุคคลที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงทั้งทางบวกและทางลบจากการพัฒนาหรือโครงการพลังงานในพื้นที่ กลุ่มบุคคลเหล่านั้นได้แก่ ผู้นำครอบครัว แม่บ้าน ปราชญ์ชาวบ้าน ตัวแทนหรือผู้นำชุมชนทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ (Formal & Informal Leader)  

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มที่ 1 ในบริบทของชุมชนภาคใต้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพบนฐานภูมิสังคมที่ชาวบ้าน เรียกว่า “เล นา ป่าเขา” โดยที่

“เล” หมายถึง พื้นที่ชายฝั่งทะเลซึ่งประชาชนประกอบอาชีพประมง การท่องเที่ยว เป็นหลัก พื้นที่ดังกล่าว มีทั้งฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย

“นา” หมายถึง พื้นที่ที่ประชาชนประกอบอาชีพการเกษตร-ทำนา เป็นหลัก เช่น บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำของจังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวเลี้ยงคนภาคใต้  

“ป่าเขา” หมายถึง บริเวณที่ปกคลุมไปด้วยพื้นที่ป่า ประชาชนประกอบอาชีพทำสวนยาง สวนผลไม้ 

2)  กลุ่มที่ 2 ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับรอง (Secondary Stakeholders) คือ บุคคล กลุ่ม องค์การ สถาบัน ที่ได้รับประโยชน์หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาหรือโครงการ เช่น ภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษาที่ติดตามและศึกษาวิจัยเรื่องนั้น ๆ โดยเฉพาะ หรืออาจเป็นกลุ่มอำนาจที่เป็นทางการ เช่น ส่วนราชการ

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มที่ 2 ในการศึกษานี้ ประกอบด้วย ตัวแทนภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว หน่วยราชการ นักการเมืองท้องถิ่น (อบต./เทศบาล/อบจ.) และผู้นำทางจิตวิญญาณที่มีบทบาทในการเป็นผู้นำความคิด รวมทั้งนักวิชาการ/ผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) 

3)  กลุ่มที่ 3 ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับบุคคลที่สาม (Third Party Stakeholders) คือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียประเภทบุคคลภายนอกที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับประชาชนในพื้นที่ แต่มีบทบาทความสำคัญหรือมีอำนาจการชี้นำ (Influence) ที่อาจส่งผลกระทบต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวของโครงการ เช่น องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) หรือฝ่ายต่อต้านที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อประชาชนในพื้นที่ เป็นต้น

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มที่ 3 ในการศึกษานี้ ประกอบด้วย ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ทั้งฝ่ายต่อต้านและสนับสนุน รวมทั้งนักวิชาการอิสระที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ในการพัฒนาหรือโครงการพลังงาน

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การคัดเลือกผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมวงสานเสวนาเป็นระบบ สามารถย้อนกลับตรวจสอบได้ จึงได้นำรายชื่อ (List) ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดมาแยกประเภท 1 ,2 และ 3 และดำเนินการคัดเลือกด้วยวิธีการสุ่มแบบง่าย (Simple Random) ตามจำนวนที่ต้องการในแต่ละประเภท สำหรับการพิจารณาระดับความสำคัญ และระดับการชี้นำ ได้ใช้หลักการประเมินแบบให้น้ำหนัก ตามลำดับจากน้อยไปหามาก (Rating Scale) ดังตาราง

แนวทางการกำหนดจำนวนโควตาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเวทีสานเสวนาจากกลุ่มต่าง ๆ เพื่อเชิญเข้าร่วมเวทีสานเสวนา SEA ภาคใต้ในครั้งนี้ โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ

1) ความครอบคลุม (Inclusive) การระดมผู้มีส่วนได้เสียต้องคำนึงถึงความครอบคลุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะมีจุดยืนสนับสนุนหรือต่อต้านโครงการในอดีตอย่างไรหรือไม่ก็ตาม

2)  ความหลากหลาย (Diversity) การระดมผู้มีส่วนได้เสียต้องคำนึงถึงความหลากหลาย ทั้งในแง่จุดยืน ผลประโยชน์ เพศ (Gender) สถานะทางสังคม ความหลากหลายทำให้ความเกิดความสมดุลทางความคิด ความเห็น ทำให้เวทีสานเสวนาไม่ถูกชักนำเอนเอียงไปทางเดียวโดยกระแสความคิด ความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง 

3)  ความยืดหยุ่น (Flexibility) การระดมผู้มีส่วนได้เสียต้องคำนึงถึงความยืดหยุ่น ในความเป็นจริง ผู้มีส่วนได้เสียทั้ง 3 ประเภท หากแบ่งที่นั่งในเวทีสานเสวนาอย่างเป็นธรรมตามหลักคณิตศาสตร์ ควรได้โควตาประเภทละเท่า ๆ กัน แต่การแบ่งลักษณะนี้ ไม่เป็นไปตามหลักความยืดหยุ่น เพราะในความเป็นจริง ผู้มีส่วนได้เสียแต่ละประเภท มีอำนาจการชี้นำไม่เท่ากัน

หากพิจารณาโดยใช้ความยืดหยุ่นเป็นหลัก กลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสียบางกลุ่มมีความสำคัญมากที่สุดแต่มีอำนาจการชี้นำน้อย เช่น กลุ่มที่ 1 กลุ่มนี้จึงควรได้โควตาที่นั่งในเวทีสานเสวนามากกว่ากลุ่มอื่น ส่วนกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสียรองลงมาแต่มีอำนาจการชี้นำมาก เช่น กลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 ควรได้ที่นั่งในเวทีสานเสวนาลดหลั่นลงมาตามลำดับ

ตัวอย่างเช่น จำนวนที่นั่งรวมในเวทีสานเสวนา 60 ที่นั่ง เมื่อแบ่งโควตาโดยยึดหลักความเท่าเทียมกันของผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่ม จะได้ที่นั่งกลุ่มละ 20ที่นั่ง 

กลุ่มที่ 3 ค่าเฉลี่ยที่นั่ง 20 ถูกลบด้วยค่าน้ำหนัก มีสำคัญมากที่สุด (5) และมีอำนาจการชี้นำมากที่สุด (5) ดังนั้น กลุ่มที่ 3 จึงควรได้ที่นั่งจำนวน 20-5-5 = 10 ที่นั่ง ทำให้เหลือจำนวนที่นั่งเพิ่มให้กลุ่มที่ 1 จำนวน 10 ที่นั่ง

กลุ่มที่ 2 ค่าเฉลี่ยที่นั่ง 20 ลบด้วยค่าน้ำหนัก มีความสำคัญปานกลาง (3) และมีอำนาจการชี้นำมาก (4) ดังนั้น กลุ่มที่ 2 จึงควรได้ที่นั่ง จำนวน 20-3-4 = 13 ที่นั่ง เหลือจำนวนที่นั่งเพิ่มให้กลุ่มที่ 1 จำนวน 7 ที่นั่ง

กลุ่มที่ 1 ได้ที่นั่งที่เหลือทั้งหมด 20+10+7 = 37 ที่นั่ง 

กล่าวโดยสรุป 

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มที่ 1 ซึ่งเป็นชาวบ้านหรือคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดมีความสำคัญ แต่มีอำนาจการชี้นำน้อยที่สุด ควรได้ที่นั่งในเวทีสานเสวนา จำนวน 37 ที่นั่ง

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มที่ 2 ควรได้ที่นั่งในเวทีสานเสวนา จำนวน 13 ที่นั่ง

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มที่ 3 ควรได้ที่นั่งในเวทีสานเสวนา จำนวน 10 ที่นั่ง                                 

รวมทั้งสิ้น 60 ที่นั่ง

โดยอาศัยหลักของความยืดหยุ่น จำนวน 60 ที่นั่ง ยังสามารถมีการเปลี่ยนแปลงได้โดยอาจเพิ่มเติมจำนวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากขึ้น หากมีการร้องขอจำนวนที่นั่งเพิ่ม เช่น กลุ่มที่ 3 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม NGOs และภาคประชาสังคม คณะทำงานอาจพิจารณาตัดสินใจร่วมกันได้ตามความเหมาะสม โดยถือว่า การเพิ่มจำนวนผู้มีส่วนได้เสียในวงสานเสวนา ไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่อย่างใด แต่เป็นการเพิ่มความหลากหลาย ซึ่งถือว่าเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย

12,826 thoughts on “การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder Analysis)