หลักการและเหตุผล

ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาของประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้าไว้ว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข เศรษฐกิจพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สังคมเป็นธรรม ฐานทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืน” ซึ่งพลังงานเป็นปัจจัยพื้นฐานหนึ่งในการสร้างความมั่นคง สร้างความเข้มแข็งของฐานการผลิตและบริการเดิมและขยายฐานใหม่โดยการใช้นวัตกรรมที่เข้มข้นมากขึ้น สร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากเพื่อให้เศรษฐกิจเข้มแข็ง แข่งขันได้ มีเสถียรภาพ และมีความยั่งยืน

แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 (Power Development Plan 2015: PDP2015) ของกระทรวงพลังงาน เน้นการสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าด้วยการกระจายเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด และตามแนวทางการจัดทำแผน PDP2015 พบว่าพื้นที่ภาคใต้มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง และมีปริมาณความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมในช่วงปี พ.ศ. 2562-2567 ซึ่งเป็นแผนแม่บทในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าในระยะยาวของประเทศ ได้กำหนดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า 2 โรง ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด เพื่อสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศและเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้ ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้าคุณภาพดี ประเภทซับบิทูมินัสหรือบิทูมินัสนำเข้าจากประเทศออสเตรเลียและอินโดนีเซีย และมีเทคโนโลยีทันสมัยที่สามารถตอบสนองข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากลที่จังหวัดกระบี่ (กำลังการผลิตสุทธิ 800 MW) และที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา (กำลังการผลิตสุทธิ 2,000 MW) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ดำเนินการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment: EHIA) ของทั้งสองโครงการ 

ในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า การจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต้องดำเนินการตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2552 ซึ่งประกอบด้วยการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียให้ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ประเทศและนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ เพื่อสร้างสรรค์สังคมไทยและสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาได้ดำเนินการตามขั้นตอน รวมถึงปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด      มีการเปิดเผยข้อมูล รวมทั้งดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบและเปิดให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในทุกกระบวนขั้นตอน อย่างไรก็ตามโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา และโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ มีทั้งผู้ที่คัดค้านและผู้ที่เห็นด้วยและมีประชาชนบางกลุ่มที่มีข้อกังวลว่าการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินในการผลิตไฟฟ้านั้นน่าจะไม่เหมาะสม และจะส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่ตั้งโครงการและพื้นที่ใกล้เคียงในวงกว้าง ซึ่งในระหว่างการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าว ได้มีข้อโต้แย้งในสังคมวงกว้างถึงความเหมาะสมของที่ตั้งโครงการทั้งสอง ด้วยข้อกังวลถึงผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของชุมชนบริเวณรอบโรงไฟฟ้า สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติที่มีผลต่อความเป็นอยู่ของชุมชน ซึ่งเป็นข้อจำกัดให้ไม่สามารถดำเนินโครงการไฟฟ้าต่อได้ ประกอบกับชุมชนที่อยู่บริเวณรอบสถานที่ก่อสร้างโครงการส่วนหนึ่งได้แสดงความเห็นสนับสนุนให้มีการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าทั้งสองอย่างต่อเนื่อง แต่มีกลุ่มภาคประชาชนบางส่วนคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกเสนอทางออกเฉพาะหน้า กรณีความขัดแย้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา ยื่น 3 ข้อเสนอให้รัฐบาลรับไปพิจารณา ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้จัดทำบันทึกข้อตกลงกับกลุ่มผู้คัดค้านและกลุ่มผู้สนับสนุน ผลการเจรจาจบลงด้วยการลงนามในบันทึกข้อตกลงระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเครือข่ายฯ เพื่อยุติข้อขัดแย้งของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่จังหวัดกระบี่ และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา และสร้างความเป็นธรรมในกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพรวมถึงการพัฒนาเชิงพื้นที่

เพื่อให้เกิดการดำเนินการที่มีส่วนร่วมของทั้งสองกลุ่มในการศึกษาหาคำตอบว่าภาคใต้ควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ และถ้าสมควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินพื้นที่ใดที่ทุกฝ่ายเห็นควรให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ รวมทั้ง        ข้อเปรียบเทียบความเหมาะสมของสถานที่ตั้งโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่และเทพา จึงจำเป็น         ต้องพิจารณาความเหมาะสมและพื้นที่ที่เหมาะสม Site Selection ของการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้ ตลอดจนศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) ที่จัดทำโดยนักวิชาการผู้ชำนาญการในเรื่องดังกล่าวที่เป็นกลางและด้วยวิธีการที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลเพื่อนำเสนอทางเลือกและประเมินทางเลือกในการพัฒนาโรงไฟฟ้าในภาคใต้ต่อรัฐบาลต่อไป

การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) เป็นเครื่องมือที่สำคัญเครื่องมือหนึ่งที่นำมาใช้สำหรับการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของนโยบาย แผนหรือแผนงาน รวมทั้งข้อเสนอทางเลือก โดยจัดทำเป็นรายงานเสนอผู้บริหารเพื่อประกอบการตัดสินใจ โดยเปิดโอกาสให้สาธารณชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ (Therivel and Partidario, 2004) ซึ่งในประเทศไทยการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ได้ขยายขอบเขตการประเมินครอบคลุม 4 มิติของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี การนำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์มาใช้ในการประเมินเพื่อประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่น่าจะช่วยให้ได้คำตอบที่มีเหตุผลทางวิชาการ และเกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ครอบคลุมทั้งกลุ่มผู้คัดค้านและผู้สนับสนุนและเป็นคำตอบทางเลือกที่น่าจะได้รับการยอมรับจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง