ขอบเขตการศึกษา

3.1  การกำหนดขอบเขต (Scoping) ที่ปรึกษาจะต้องดำเนินการ

1)  ทบทวนและนำเสนอข้อมูลของนโยบายและแผนที่เกี่ยวข้องเพื่อวิเคราะห์ความสอดคล้อง ข้อจำกัด นำไปสู่การกำหนดเป้าหมาย วัตถุประสงค์ ขอบเขต และการดำเนินการที่เชื่อมโยงของแผนที่จะพัฒนากับนโยบายและแผนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การกำหนดวัตถุประสงค์การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สอดคล้องกับแผนและนโยบายที่เกี่ยวข้อง

2)  ทบทวนข้อมูลพื้นฐาน ปัญหา และความกดดันด้านสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ปัจจุบันในพื้นที่และระบุประเด็นของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นทั้งทางบวกและลบที่สำคัญที่ครอบคลุมทั้ง 3 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม      ที่นำไปสู่การกำหนดตัวชี้วัดที่เหมาะสม โดยให้ระบุรายการของประเด็นทั้งหมดที่ถูกนำมาประเมินการอธิบายถึง   การได้มาซึ่งประเด็นที่สำคัญ การเชื่อมโยงประเด็นที่สำคัญกับการพัฒนาพื้นที่ยั่งยืน

3)  นำเสนอแนวคิด วิธีการ และหลักเกณฑ์ในการพัฒนาและประเมินทางเลือกรวมทั้งมาตรการในการลดผลกระทบและการติดตามตรวจสอบและการประเมินผล

4)  นำเสนอแนวคิดและวิธีการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นำเสนอแผนและดำเนินการการปรึกษาสาธารณะ (Public Consultation) และแผนการสื่อสารในขั้นตอนต่าง ๆ ของการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์

5)  จัดทำเป็นรายการกำหนดของเขต (Scoping Report) ที่ได้มีการปรึกษาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจนได้เป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน

3.2  การพัฒนาตัวชี้วัดและเกณฑ์สำหรับการศึกษา ได้มาจากการทบทวนงานศึกษาที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศ และประเทศไทย จากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญและจากการสานเสวนาผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยแบ่งตัวชี้วัดออกเป็น 2 ประเภท ประกอบด้วย

1)  ตัวชี้วัดสำหรับประเมินทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ตัวชี้วัดในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยี 

2)  ตัวชี้วัดสำหรับการประเมินพื้นที่ที่เหมาะสม ประกอบด้วย ตัวชี้วัดในมิติกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 

ซึ่งได้กำหนดแนวทาง/วิธีการประเมิน และเกณฑ์การประเมินสำหรับใช้ในการประเมินทางเลือกและประเมินพื้นที่ที่เหมาะสม รวมทั้งการกำหนดค่าน้ำหนักสำหรับตัวชี้วัดในมิติต่าง ๆ

3.3  การพัฒนาและประเมินทางเลือก (Alternative Development and Assessment) ที่ปรึกษาจะต้องดำเนินการ

1)  พัฒนาทางเลือกการพัฒนาพลังงานในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งในกรณีควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ หากมีพื้นที่ใดบ้างที่มีความเหมาะสมในการจัดตั้ง และการพัฒนาพลังงานในพื้นที่ภาคใต้กรณีที่ไม่มีพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการจัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งนี้ ต้องมีการนำเสนอทางเลือกของการดำเนินการเช่นเดิม (Business as Usual Alternatives)

2)  ประเมินผลกระทบจากทางเลือกให้ครอบคลุมทุกด้านทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความเป็นไปได้ในทางเทคโนโลยีที่จะรองรับ

3)  จัดลำดับการพึงพอใจทางเลือก

3.4  การบรรเทาผลกระทบ การตรวจสอบและการประเมิน ที่ปรึกษาจะต้องดำเนินการจัดทำเป็นแผนการบรรเทาผลกระทบ แผนการติดตามตรวจสอบและการประเมินผล

3.5  การมีส่วนร่วม การปรึกษา และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของภาคส่วนต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเปิดเผย ทั่วถึง และต่อเนื่อง ที่ปรึกษาจะต้องดำเนินการ

1)  การวิเคราะห์และกำหนดผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 

การศึกษานี้ได้กำหนดผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง (Primary Stakeholders) กลุ่มที่ 2 ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับรอง (Secondary Stakeholders) และกลุ่มที่ 3 ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับบุคคลที่สาม (Third Party Stakeholders) และกำหนดจำนวนโควตาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยพิจารณาตามความครอบคลุม ความหลากหลาย และความยืดหยุ่น 

2)  ดำเนินการจัดการมีส่วนร่วม การปรึกษา และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเหมาะสมทั้งช่วงเวลา ระยะทาง ความครบถ้วน เพียงพอและถูกต้องของข้อมูลต่าง ๆ ในรูปแบบต่าง ๆ

3)  ทำการสรุป และข้อคิดเห็น ข้อกังวล ข้อเสนอแนะในทุกขั้นตอนที่มีการดำเนินการ

3.6  บทสรุปและข้อเสนอแนะ เพื่อนำเสนอทางเลือกที่เหมาะสมและแนวทางการบริหารจัดการทางเลือกดังกล่าว